ตอน 02 : เป็นมากกว่าร้านขายดอกไม้ออนไลน์!
โลนลี่วูล์ฟ เขียน
ดิจิทัลอาร์ทิเคิลว้าว ตรวจสอบ
"ดอกพวกนี้ขายยังไงค่ะ"
"ช่อเล็ก 50 ช่อใหญ่ 100 จร้าหนู เฉพาะชุดนี้น่ะ แต่ถ้าดอกกุหลาบสีแดงสดโน่น ดอกล่ะ 20 ช่อล่ะ 300 จ๊ะ" แม่ค้าท่าท่างว่องไว ปากทาลิปสติกสีแดงแป้ด ตะเบ็งคอตอบลูกค้าแข่งกับเสียงโฆษกและเสียงดนตรีในงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
"เอาไงดีเธอ เราว่าดอกกุหลาบสักช่อไปเลยดีไหม" โสภิตานักศึกษาสาวปีหนึ่งคณะสื่อสารมวลชนหันมาถามนุชจรีย์เพื่อนซี้ที่เดินมาด้วยกัน
"ดอกเคสเปียกับดอกเดซี่ช่อเล็กก็พอมั้ง ดอกกุหลาบจะแพงไป"
"แต่เราว่าซื้อให้พี่บัณฑิตใหม่ทั้งทีเอาอย่างดีไปเลยดีกว่าไหม"
"อีกอย่างสีดอกเคสเปียกับเดซี่ดูจะจืดไปหน่อยน่ะ สู้สีแดงสดอย่างดอกกุหลาบก็ไม่ได้" โสภิตาเป็นนักศึกษาชาวเผ่าปกาเกอะญอหรือบางทีก็เรียกว่ากะเหรี่ยง เธอเป็นตัวแทนเด็กชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงกว่าสี่แสนคนที่สามารถผ่านการสอบคัดเลือกและเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เมื่อต้นปีที่แล้ว
"แหม ฉันจะไปเถียงสู้เธอได้ไงล่ะจ๊ะ แม่คุณคนละเอียดลออ" นุชจรีย์เพื่อนรูมเมทของโสภิตาที่มีพื้นเพเป็นคนภูเก็ตแต่สามารถสอบเอ็นทร้านซ์จากส่วนกลางเข้ามาเรียนที่เชียงใหม่ได้ชนิดที่เจ้าตัวก็ยังแปลกใจตัวเองมาจนถึงปัจจุบันนี้
"งั้นเอาดอกกุหลาบช่อนั้น..ให้ช่อนึงค่ะ"
จริงๆแล้วโสภิตาได้ทำการค้นหาข้อมูลดอกไม้ที่ใช้ในวันพระราชทานปริญญาบัตรว่ามีอะไรบ้างและแต่ละชนิดนั้นใช้สื่อความหมายระหว่างผู้ให้กับผู้รับเป็นอย่างไร สำหรับดอกเคสเปียนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นดอกไม้ที่อยู่คงนานไม่ว่าจะเป็นดอกไม้สดหรือดอกที่แห้งแล้ว ไม่ค่อยที่จะร่วงโรยง่ายๆ ดอกชนิดนี้มักจะใช้สื่อถึงความรักที่อยู่คงนาน มั่นคงและก็ซื่อสัตย์นั่นเอง ส่วนดอกเดซี่มีสีขาวมักใช้สื่อถึงความรักอันบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา มักใช้เป็นตัวแทนแห่งความจริงใจอันบริสุทธิ์ที่มีให้แก่กันและกัน แต่การที่โสภิตาเลือกดอกกุหลาบสีแดงสดแทนนั้นก็เป็นเพราะว่าเธอต้องการที่จะสื่อถึงความปลื้มในความสำเร็จของบัณฑิตรุ่นพี่คนหนึ่งที่เคยช่วยเหลือเธอทั้งในเรื่องของการเรียนและก็เรื่องของการเงิน!
โสภิตารู้ตัวเองดีว่ามีต้นทุนมาไม่เท่ากับเพื่อนๆร่วมคณะคนอื่นๆถึงแม้ว่าเธอจะได้รับทุนเรียนฟรีจากโครงการสนับสนุนบัณฑิตคืนถิ่นนั้นก็ตาม ทุกเย็นหลังเลิกเรียนเธอก็มักจะหารายได้พิเศษด้วยการไปช่วยงานตามร้านซักรีดบ้าง รับพิมพ์งานตามร้านถ่ายเอกสารบ้าง จนรุ่นพี่ในคณะทุกคนต่างก็ให้ความรักความเอ็นดูเธอมากเป็นพิเศษ
"คืนนี้กลับดึกอีกแล้วน่ะโส กินข้าวมาแล้วหรือยังล่ะ" นุชจรีย์รูมเมทผู้แสนดีที่ทั้งรักและก็เห็นใจในตัวเพื่อนของเธอคนนี้ บ่อยครั้งที่เธอเห็นโสภิตาในสภาพอดมื้อกินมื้อแถมยังเคยออกปากให้หยิบยืมเงินของเธอไปใช้ก่อนแต่โสภิตาก็ปฎิเสธมาโดยตลอด
"อ๋อ เราทานมาแล้วล่ะ..แล้วเธอล่ะนุช"
"เราก็เพิ่งจะกินต้มมาม่านี่ล่ะ..เอ้อ ยังมีอีกหลายซองในกล่องน่ะ ถ้าดึกๆเธอหิวก็เปิดเอาได้เลย..เราต้มน้ำไว้ให้แล้วน่ะโส"
"จร้า ขอบใจมากๆจ๊ะเพื่อนรัก" โสภิตาอ่านหนังสืออยู่จนดึกเป็นประจำบางทีก็ดึกมากจนต้องต้มมาม่าทานแต่เธอก็มักจะเอาเงินจากรายได้พิเศษของเธอมาซื้อมาม่ากลับคืนให้กับนุชจรีย์ทุกครั้งไป
คืนนี้หลังจากทบทวนหนังสือจนจบอย่างเคยแล้ว เธอก็ปิดไฟหัวโต๊ะเตรียมจะเข้านอนและในขณะที่กำลังจะหลับตาอยู่นั้นความคิดแว่บหนึ่งก็พลันแล่นสู่หัวเธอว่า 'ทำไมเราไม่ลองขายดอกไม้ในวันรับปริญญาปีหน้าดูบ้างล่ะ นี่อาจจะเป็นหนทางสร้างรายได้ที่ดีก็ได้..ใครจะไปรู้' มันทำให้โสภิตาต้องนึกทบทวนถึงข้อได้เปรียบระหว่างเธอกับแม่ค้าคนนั้นว่าเธอน่าจะขายได้ถูกกว่าและก็ดีกว่าเพราะญาติพี่น้องชาวกะเหรี่ยงของเธอมีพื้นที่ปลูกสวนดอกไม้บนภูเขาแถมอากาศก็หนาวเย็นกว่าจึงน่าจะเหมาะกับการปลูกดอกไม้เป็นอย่างยิ่ง อีกประการหนึ่งการที่เธอได้รู้จักกับรุ่นพี่แทบทุกชั้นปีและก็แทบจะทุกคนนั้นมันได้สร้างคอนเนคชั่นให้กับเธอไปแล้วในระดับหนึ่ง ที่เหลือก็เพียงแค่การประชาสัมพันธ์สินค้าคุณภาพราคาไม่แพงของเธอให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่านั้นเองแล้วเธอก็ผลอยหลับไปในราตรีอันแสนสั้นคืนนั้นอย่างมีความสุข
"มาช่วยกันน่ะนุช" โสภิตาเล่าแผนการณ์ตลาดเมื่อคืนให้นุชจรีย์ฟังด้วยความตื่นเต้น
"เอาสิโส..เราคิดว่าต้องขายได้แน่นอน..เรามั่นใจในตัวเธอน่ะ"
โสภิตาไม่เพียงแต่คิดได้เท่านั้นแต่เธอยังรีบลงมือทำอีกด้วย อย่างแรกเลยก็คือเรื่องของต้นทุนที่โสภิตาจะต้องสรุปให้ได้ว่าอยู่ที่จำนวนเงินเท่าไรแล้วเธอจึงจะสามารถกำหนดราคาขายได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เธอจึงใช้เฟสบุ้คเมสเซนเจอร์และเฟสบุ้คไลฟ์บนมือถือคุยกับญาติพี่น้องของเธอที่อยู่ห่างขึ้นไปทางเหนือของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มันทำให้เธอได้เห็นภาพของภูมิประเทศบนดอยโดยที่เธอไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง ทำให้ประหยัดเวลาไปได้มาก ขณะเดียวกันเธอก็ส่งรูปภาพดอกไม้ชนิดต่างๆที่เธอต้องการจะปลูกให้ญาติพี่น้องดู จากนั้นก็หาข้อมูลร้านที่ขายเมล็ดพันธ์ดอกไม้และจัดส่งทางไปรษณีย์ไปให้ทดลองไปปลูกกัน ในที่สุดเธอก็ได้ข้อสรุปว่าควรจะขายในราคาไม่ต่ำกว่า 30 บาทต่อช่อสำหรับดอกเคสเปียและดอกเดซี่ช่อเล็กแต่ถ้าเป็นช่อใหญ่ก็ไม่น่าจะเกิน 70 บาทต่อช่อ ทั้งนี้เธอได้คิดรวมเอาค่าขนส่งและค่าดำเนินการต่างๆรวมถึงกำไรเอาไว้ในราคาตรงนี้เรียบร้อยแล้ว
"เราคิดว่าจะเปิดขายแบบพรีออเดอร์บนอินเทอร์เน็ตน่ะ"
"เธอหมายถึงขายแบบสั่งจองล่วงหน้าทางออนไลน์ใช่ไหม"
"งั้นเดี๋ยวเราจะทำเพจสวยๆในเฟสบุ้คให้น่ะ" นุชจรีย์อาสาเป็นผู้ช่วยโสภิตาด้วยเพราะเธอเคยมีประสพการณ์ในการขายสินค้าออนไลน์มาก่อน
ขั้นตอนต่อไปก็คือโสภิตาจะต้องประชาสัมพันธ์หน้าร้านออนไลน์หรือเฟสเพจนี้ให้เป็นที่รู้จักในหมู่สมาคมนักศึกษาเก่าและใหม่ของมหาวิทยาลัยให้ได้เพราะเขาเหล่านั้นอาจจะกลายมาเป็นลูกค้าของเธอก็ได้ในอนาคต แต่โสภิตาก็รู้ดีว่าหากบอกขายสินค้ากันตรงๆแบบนี้ก็อาจจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีทั้งรุ่นพี่สถาบันและก็คนทั่วไปก็อาจเป็นได้
"เพจของเราจะต้องสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับสังคมออนไลน์ในมหาวิทยาลัยให้ได้" โสภิตามอบหมายให้นุชจรีย์ช่วยรับเป็นแอดมินเพจส่วนตัวเธอเองก็เป็นผู้ช่วยแอดมินในการเข้าไปตอบคำถามลูกเพจ
เพจของโสภิตามีชื่อว่า 'ฉันคือดอกไม้' ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเรื่องของการจัดดอกไม้ทุกชนิดโดยอาศัยการเชื่อมต่อกับเว็บไซด์พันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับการจัดดอกไม้ต่างๆทั่วโลก ขณะเดียวกันแอดมินเพจก็จะทำการโพสต์ข้อมูลข่าวสารหรือเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับดอกไม้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวการประกวดการจัดดอกไม้ตามเทศกาลต่างๆหรือเทคนิคการจัดช่อดอกไม้ให้สวยด้วยดอกไม้ประจำถิ่น เป็นต้น มีหลายครั้งที่โสภิตาได้คลิปถ่ายทอดสดการแข่งขันการจัดดอกไม้จากต่างประเทศและได้ส่งให้นุชจรีย์โพสต์ลงในเพจทุกวันถึงเกือบหนึ่งเดือนเต็ม จนมีคนคลิ๊กเข้ามาชมอย่างต่อเนื่องและยังกดไลค์ให้เพจ 'ฉันคือดอกไม้' จนเกินหลักห้าพันไลค์เข้าไปแล้ว!
"โส..นี่เราเปิดเพจมาเกือบจะครบปีแล้วน่ะ" แอดมินนุชจรีย์ที่ตอนนี้เธอได้กลายเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมโซเชี่ยลมีเดียในสถาบันแห่งนี้ไปแล้ว
"เรายังพอมีเวลาเหลืออีกสักครึ่งเดือนก่อนที่จะถึงวันรับปริญญาน่ะนุช"
"และก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดตัวเว็บไซด์ขายดอกไม้ออนไลน์อย่างเป็นทางการได้แล้วล่ะเธอ" โสภิตาได้เคยว่าจ้างรุ่นพี่ต่างคณะคนหนึ่งให้ช่วยทำเว็บไซด์อีคอมเมิร์ซเพิ่อจัดจำหน่ายช่อดอกไม้ในวันพระราชทานปริญญาบัตรในปีที่จะถึงนี้โดยเฉพาะ
"เราจะเปิดให้ลูกค้าทั่วไปสั่งจองช่อดอกไม้ล่วงหน้าตามแพคเกจที่เราแสดงไว้ในเว็บ..ก่อนหน้าวันจริงอย่างน้อยสักหนึ่งอาทิตย์และลูกค้าในส่วนนี้อาจจะเป็นญาติพี่น้องของพี่ๆบัณฑิตใหม่เอง"
"ส่วนลูกค้าที่เป็นนักศึกษาร่วมสถาบันเดียวกับเราไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือรุ่นพี่ทุกคน เราก็จะมีส่วนลดพิเศษให้ 20% ทันทีเพียงแค่คุณใส่รหัสประจำตัวนักศึกษาลงในแบบฟอร์มพรีออเดอร์ในเว็บแค่นั้นเอง" โสภิตาคาดว่าจะมียอดสั่งจองพร้อมกับเงินมัดจำล่วงหน้าส่วนหนึ่งเข้ามาภายในอาทิตย์หน้านี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เธอก็จะได้แจ้งยอดผลิตให้กับทางญาติพี่น้องของเธอที่อยู่บนดอยสูงต่อไป
จริงดังที่โสภิตาคาดไว้มียอดสั่งทำช่อดอกไม้เคสเปียและเดซี่รวมถึงดอกกุหลาบและดอกอื่นๆเข้ามาจำนวนหนึ่งซึ่งโสภิตาและนุชจรีย์คิดว่าน่าจะมาจากการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในเพจหลักและการเปิดพรีออเดอร์หรือการเปิดให้ลูกค้าได้สั่งจองล่วงหน้านั่นเอง
"นุช..เดี๋ยววันหยุดเสาร์อาทิตย์นี้เราจะกลับบ้านที่อมก๋อยเพื่อไปสั่งทีมงานทำดอกไม้น่ะ..เธอช่วยดูแลเพจและเว็บไซด์ให้ด้วยน่ะ..หากมีออเดอร์เพิ่มเติมก็ช่วยแจ้งเราด้วย" งานขั้นต่อไปโสภิตาเห็นว่าเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งฝีมือและก็ความละเอียดลออในการจัดทำช่อดอกไม้ให้ดูสวยสดงดงามและก็จะต้องให้ถูกใจลูกค้าเป็นอย่างมากให้ได้อีกด้วย ก่อนที่เธอจะกลับถึงบ้าน เธอก็ได้ใช้เงินส่วนที่ลูกค้าจ่ายมาเป็นค่ามัดจำไปเลือกซื้อช่อดอกไม้สวยๆจากร้านขายดอกไม้ในตลาดมาสักสองสามช่อเพื่อเอาไว้ใช้เป็นตัวอย่างให้ทีมงานดู
งานพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้นอกจากจะมีพ่อค้าแม่ค้าหน้าเดิมๆที่เข้ามาเช่าพื้นที่ส่วนต่างๆภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดเป็นหน้าร้านขายดอกไม้และของที่ระลึกเป็นประจำเช่นนี้ทุกปีแล้ว ยังได้สร้างแม่ค้าออนไลน์รุ่นใหม่วัยกระเตาะขึ้นมาอีกสองคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขายสินค้าจริง ไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ ไม่ต้องสต็อคสินค้าไว้แถมยังสามารถปิดการขายได้ก่อนใครอีกด้วย นั่นหมายถึงว่าทั้งโสภิตาและนุชจรีย์ต่างก็มีเงินไหลเข้าบัญชีของตัวเองอย่างตลอดต่อเนื่องในช่วงวันรับปริญญานับตั้งแต่วันซ้อมรับไปจนถึงวันรับจริง โดยที่ทั้งสองคนต่างก็รู้สึกสนุกสนานกับการเปิดร้านขายดอกไม้ออนไลน์ของตัวเองเป็นอย่างมาก พวกเธอทั้งสองดูจะไม่ค่อยเหนื่อยอะไรมากนัก ต่างจากพ่อค้าแม่ค้าดอกไม้ออฟไลน์ทั่วไป ที่กว่างานพระราชพิธีจะผ่านพ้นไปได้ก็ทำเอาเหนื่อยแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนกัน เพราะไหนจะต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาเฝ้าร้าน ยังต้องมาเปิดร้านตลอดทั้งวันจะไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวกแถมวันไหนหากขายไม่หมดก็อาจต้องทิ้งไปเพราะดอกไม้สดบางชนิดก็อยู่ได้ไม่ข้ามวัน ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกโดยใช่เหตุ!
"นุชคืนนี้เราออกไปหาอะไรทานข้างนอกกันดีไหม..แล้วเราจะได้สรุปยอดรายรับด้วยกันไปทีเดียวเลย"
"ดีจ๊ะ..แหมกำลังเบื่อต้มมาม่าอยู่พอดีเลย 55" นุชจรีย์แซวเพื่อนรูมเมทคนเก่งของเธอ
"พอกันทีกับอาหารญี่ปุ่น 55..ต่อไปนี้คงต้องหาอาหารสุขภาพจริงๆแล้วล่ะเธอ"
"แหม..ก็ชีวิตเลือกได้แล้วนี่เธอ 55"
ร้านขายดอกไม้ออนไลน์ของทั้งสองกำลังรอวันเติบใหญ่เพราะทั้งโสภิตาและนุชจรีย์เองก็ยังมีโอกาสสร้างรายได้ก้อนใหญ่แบบนี้ได้อีกถึงสองปีก่อนที่เธอทั้งสองคนจะจบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ไป ถึงกระนั้นก็ตามทั้งโสภิตาและนุชจรีย์ก็ยังคุยกันอยู่ว่าจะลองขยายฐานลูกค้าไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆในเชียงใหม่ดูบ้าง หากสมมติว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีแล้วล่ะก็..ทั้งสองคนก็อาจจะยึดเอา 'ร้านขายดอกไม้ออนไลน์' แห่งนี้เป็นอาชีพหลักเลี้ยงตัวเองไปเลยก็ได้..ก็ใครมันจะไปรู้ (ล่ะ)
..................................................................................................................................................................
#ดิจิทัลอาร์ตว้าว
#ดิจิทัลอาร์ทิเคิลว้าว
#DigitalArtWOW
#DigitalArticleWOW
#คุยข่าวทันโลกดิจิทัล
‘คุยข่าวทันโลกดิจิทัล’ ไลน์สแควร์ที่แชทคุยแลกเปลี
https://line.me/ti/g2/
Comments
Post a Comment